Nepenthes smilesii

Nepenthes smilesii Hemsl.,

Kew Bull. (1895) 116.

ความหมายของชื่อ: หม้อข้าวหม้อแกงลิงของ Smiles (นักพฤกษศาสตร์ผู้ค้นพบ)

ชื่อพ้อง: anamensis

ชื่อไทย: น้ำเต้าพระฤาษี (เลย)

ความหลากหลายและรูปแบบที่อธิบายไว้: ไม่มี

ถิ่นกำเนิด: พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, เลย, ชัยภูมิ, อุดรธานี, อุบลราชธานี, อำนาจเจริญ

ระดับความสูง: 100-1,300 ม.

ชนิดผสมตามธรรมชาติ: ไม่พบ

นิเวศวิทยา: ที่ราบทุ่งหญ้าป่าสนบนภูเขาสูงซึ่งเป็นดินทราย แห้งแล้งในบางฤดู

ต้น: ลำต้นทรงกระบอก ยาวไม่เกิน 3 ม. หนาไม่เกิน 15 มม. ระยะระหว่างข้อยาวไม่เกิน 5 ซม. ลำต้นมีสีเขียว ส้ม หรือแดง เมื่อแก่เป็นสีเทา ใบ: หนาเหนียวเหมือนหนัง ใบเดี่ยว เรียงตัวเป็นเกลียว เนื้อใบรูปหอกแกมขอบขนาน ยาวไม่เกิน 30 ซม. กว้างไม่เกิน 4 ซม. ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบมีขนเล็กน้อย โคนใบแคบ ไม่มีก้านใบ โคนใบโอบลำต้นเต็มลำ มีเส้นใบแนวยาวฝั่งละ 3-4 เส้น เส้นใบย่อยไม่ชัดเจน ใบมีสีเขียวอ่อนหรือสีแดง สายหม้อยาวไม่เกิน 4 ซม. บางครั้งมีครีบยืดออกตั้งแต่เนื้อใบยาวตลอดสายหม้อเชื่อมต่อกับครับที่หม้อ หม้อ: หม้อล่างทรงกระบอก ก้นหม้อทรงกระเปาะเล็กน้อย สูงไม่เกิน 15 ซม. กว้างไม่เกิน 4 ซม. มีครีบ 1 คู่ กว้างไม่เกิน 10 มม. ยาวจากขอบปากจรดก้นหม้อ ผนังด้านนอกหม้อมีสีแดง ส้ม เหลืองหรือเขียวอ่อน เจือสีส้มแดง ผนังด้านในหม้อมีสีขาว มีจุดสีแดง-แดงเข้มประปรายหรือเกือบทั่วทั้งผนังด้านในหม้อ ปากหม้อรูปกลม-รูปหัวใจ ขอบปากหม้อทรงกระบอก หนาไม่เกิน 3 ม.ม. เฉียงขึ้นไปทางด้านหลัง ฟันไม่เด่นชัด ขอบปากหม้อมีสีเดียวกับผนังด้านนอกหม้อหรือสีเหลือง ฝาหม้อเป็นรูปวงรี-รูปหัวใจ ไม่มีเดือยใต้ฝาหม้อ จุกหม้อเดี่ยว ยาวไม่เกิน 2 มม. หม้อบนทรงเรียวกว่า ครีบหดลงเป็นแนว มีสีสันไม่สดใส ช่อดอก: ตัวผู้กับดอกตัวเมียมีขนนุ่ม ดอกมีขนาดยาวประมาณ 50-100 เซนติเมตร กลีบดอกตัวเมียเมื่อแก่จะไม่บานออก ผลเป็นแบบแคปซูล เมื่อแก่จะแตกเป็นพู 4 พู ขน: ลำต้นและใบมีขนสั้นนุ่ม สีขาว ทั้งด้านบนและท้องใบ ยอดอ่อนมีขนหนาสั้นสีน้ำตาลอ่อน

ข้อสังเกต

N. smilesii เป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิง กลุ่มพื้นที่สูง ที่พบได้ในแถบอินโดจีน ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย นิเวศวิทยาที่พบในเมืองไทย มักพบบนที่ราบสูง ซึ่งมักเป็นทุ่งหญ้าแห้งแล้ง โล่งแจ้ง อาจมีป่าสนปะปนอยู่ประปราย ดินส่วนใหญ่เป็นดินปนทราย ซึ่งมีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชน้อย เช่น อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย, อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก, อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ เป็นต้น ซึ่งคาดว่า บริเวณที่มีภูมิประเทศ เป็นที่ราบทุ่งหญ้าป่าสนเขาบนพื้นที่สูง น่าจะพบหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้ได้เกือบทุกแห่งทั่วประเทศ

ชนิด N. smilesii เคยถูกจัดเป็นเพียงความหลากหลายของชนิด N. mirabilis แต่ด้วยลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่แตกต่างกันมากทั้งลำต้น รูปร่างของเนื้อใบ รวมถึงขนจำนวนมาก ซึ่งไม่มีในชนิด N. mirabilis ทำให้มีการจัดลำดับอนุกรมวิธานเป็นชนิดใหม่ โครงสร้างลำต้นและใบของชนิด N. smilesii มีลักษณะใกล้เคียงกับ N. thorelii แต่จะมีขนาดใหญ่กว่ามาก รวมทั้งยังมีขนสั้นนุ่ม สีขาว ปกคลุมผิวใบ ซึ่งไม่พบในชนิด N. thorelii ส่วนชนิด N. anamensis (Anam =ชื่อเมืองทางภาคกลางของเวียดนาม, -ensis = มาจาก) มีลักษณะหลายประการที่เหมือนกับชนิดนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นชนิดเดียวกัน ผู้เขียนจึงใช้ชื่อ N. smilesii ซึ่งเป็นชื่อชนิดที่นิยมใช้แพร่หลายมากกว่า และมีการบันทึกไว้ในเอกสารของหอพรรณไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความเห็นส่วนตัวอีกประการหนึ่งคือ smiles แปลว่ารอยยิ้ม ดังนั้ง N. smilesii ก็มีความหมายตามตัวอักษรว่า “หม้อข้าวหม้อแกงลิงแห่งรอยยิ้ม” ซึ่งเหมาะกับ เมืองไทย ดินแดนแห่งรอยยิ้มด้วย

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย (17 มกราคม 2552)

DSCF1319 DSCF1295 DSCF1296

 DSCF1297 DSCF1314 DSCF1316

DSCF1318

พบที่ระดับความสูง 1,300 ม. เหนือระดับน้ำทะเล บริเวณทุ่งหญ้าป่าสนทั่วทั้งยอดภู มักพบใกล้กับโคนต้นสน เพื่อได้รับร่มเงาจากต้นสนในวันที่แสงแดดจัด ในช่วงฤดูแล้งชนิดนี้จะชะลอการเจริญเติบโต หม้อจะเหี่ยวเกือบทั้งหมด ใบจะเหี่ยวแห้งลง เหลือเพียง 3-5 ใบ ต่อต้น และไม่ค่อยแตกใบใหม่ จนกว่าจะมีฝนตก เพื่อป้องกันการคายน้ำ รากจะมีลักษณะเป็นเหง้าปมเพื่อใช้ในการเก็บสะสมน้ำในช่วงฤดูแล้ง พบต้นแก่ที่มีความยาว 3 เมตรแต่ไม่ค่อยเลื้อยอิงอาศัยต้นไม้ใหญ่ เมื่อเจริญเติบโตจนมีความยาวมักเกินกว่าลำต้นจะรับน้ำหนักได้ก็จะโค้งลงต่ำอาจพาดเกี่ยวกับกิ่งไม้อื่นและเมื่อเจริญเติบโตต่อไปก็จะยืดขึ้นไปอีก ต้นที่พบมีการม้วนขดขึ้นลงในลักษณะนี้หลายรอบด้วยกัน และมีการแตกยอดมากว่า 5 ยอดในต้นเดียวกัน ตั้งแต่โคนจรดปลาย ชนิดนี้พบลักษณะใบสีเขียวปกติ และใบสีแดงทั้งหมดหรือน้ำตาลแดง ซึ่งยังต้องสังเกตต่อไปว่าลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะทางพันธุกรรมหรือเกิดจากสิ่งแวดล้อม

ปล. ฤดูที่เหมาะสมในการไปเที่ยวชมหม้อข้าวหม้อแกงลิงบนภูกระดึงคือ ช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงฤดูที่ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงจะสมบูรณ์มีทั้งหม้อและใบ ทั้งยังมีสภาพอากาศที่ง่ายต่อการเดินชม เพราะไม่ใช่ฤดูฝน ส่วนช่วงฤดูหนาวที่ไปนี้จะมีสภาพอากาศแห้งแล้ง ทำให้หาหม้อข้าวหม้อแกงลิงงาม ๆ ไม่ได้ ทั้งหม้อและใบที่พบก็จะมีขนาดเล็ก

 

อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ (12 กุมภาพันธ์ 2552)

เมื่อช่วงปลายปี 51 ผมเคยมาที่นี่ครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนั้นแค่ผ่านมา แล้วก็แวะเข้าห้องน้ำ แวะดูที่ศูนย์บริการข้อมูลอุทยาน พบหนังสือรวบรวมภาพถ่ายและพันธุ์ไม้ป่าในอุทยานแห่งนี้ แล้วผมก็ได้พบกับภาพนี้ครับ

Photobucket

เมื่อได้เห็นภาพนี้แล้ว ผมก็มีความตั้งใจว่า ครั้งหน้าจะต้องแวะมาค้างแรมที่นี่ แล้วออกตามหา หม้อข้าวหม้อแกงลิงให้เจอให้ได้

     แล้วผมก็ได้มาอีกครั้งในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 พร้อมทั้งเต๊นท์คู่ใจ วันแรกที่มาถึง ผมขับรถตรงเข้าไปยังภูกุ่มข้าวทันที ก่อนจะเข้าไปกางเต๊นท์ในอุทยานเสียอีก แต่ก็ต้องผิดหวังครับ เพราะไปถึงแล้วพยายามเดินหา ตามโคนต้นสนใหญ่ (เหมือนอย่างที่พบบนภูกระดึง) แต่ก็ไม่พบเลยแม้แต่ต้นเดียว อีกทั้งระยะทางจากปากทางเข้าไปยังภูกุ่มข้าวก็เป็นทางลูกรัง ระยะทางถึง 15 กม. จึงไม่รู้จะแวะตรงไหนดี

     เย็นวันนั้นผมกลับเข้าไปพักในอุทยานฯ สอบถามแม่ค้าว่า สวนสนบ้านแปก(เห็นป้ายอยู่ข้างทาง) กับ ดงแปก เนี่ยมันคือสถานที่เดียวกันหรือเปล่า แม่ค้าบอกว่า ที่เดียวกัน ทำให้มั่นใจขึ้น คิดไว้ว่า เอาวะ… ยังเหลืออีกที่หนึ่ง คือ ดงแปก เดี๋ยวพรุ่งนี้เจอกัน…

     เช้าขึ้น หลังจากเก็บเต๊นท์ ดื่มกาแฟ และเดินเล่นในบริเวณอุทยานจนพอใจแล้ว ผมก็ออกเดินทางต่อไปยัง สวนสนบ้านแปก ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานเพียงไม่มากนัก แต่เมื่อเข้าไปก็ต้องผิดหวังอีก นอกจากจะไม่ได้เจอกับหม้อข้าวหม้อแกงลิงแล้ว ยังเห็นสภาพสวนสนบ้านแปก ซึ่งถูกไฟป่าเผาจนต้นสนล้มระเนระนาด(อ่านเรื่องนี้และดูสภาพป่าสนที่ถูกไฟใหม้ได้ที่บล๊อก "เที่ยวเขาค้อ ต่อ น้ำหนาว")ทำให้คิดว่า ถ้าบริเวณนี้มีหม้อข้าวหม้อแกงลิงอยู่ก็คงถูกไฟป่า เผาวอดไปหมดด้วยเช่นกัน

     ผมออกจากสวนสนบ้านแปกมาเป็นเวลาใกล้เที่ยง จึงแวะกลับเข้าไปยังอุทยานฯ เพื่อเข้าห้องน้ำและทานข้าวกลางวัน ก่อนจะเดินทางกลับอย่างสิ้นหวัง ที่ป้อมตรวจการ ด้านหน้าอุทยานฯ ผมได้พบกับเจ้าหน้าที่ซึ่งแนะนำว่า ถ้าอยากเห็นช้างป่าให้มาดูที่กล้องของ เจ้าหน้าที่อีกท่านหนึ่งซึ่งถ่ายไว้ได้ ผมก็คิดในใจว่า เอาล่ะ ดูหน่อยก็ดี จึงเดินเข้าไปดูภาพในกล้องดิจิตอลของคุณลุงท่านนั้น ระหว่างที่ดูผมเหลือบไปเห็นแผ่นซีดี ซึ่งมีภาพหม้อข้าวหม้อแกงลิงและดอกไม้ป่าจำนวนหนึ่งอยู่ ผมจึงถามว่า ถ้าผมอยากจะไปถ่ายรูปหม้อข้าวหม้อแกงลิง ผมจะไปที่ไหนได้ เพราะผมเข้าไปมาหมดแล้วยังหาไม่เจอเลย แกบอกว่า จริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้หายากนัก แต่ตามริมทางไม่มีให้เห็น ต้องเข้าไปในป่านิดหนึ่ง ถ้าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่รู้จุดก็หาไม่เจอหรอก แกบอกให้ผมไปกินข้าวก่อน แล้วไปหาแกที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ เดี๋ยวแกจะพาไปดู (ทราบทีหลังว่าแกชื่อลุงสุรินทร์ เป็นหัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานนี้)

     หลังจากทานอาหารกลางวันแล้ว ผมก็รีบไปหาแกที่หน่วยฯ ไปถึงแกเปลี่ยนชุดจาก ชุดเจ้าหน้าที่เป็นชุดเดินป่า จุดแรกแกพาผมไปดูบริเวณที่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ เพียง 300 เมตร

0102 

สภาพป่าเป็นแบบนี้ครับ แตกต่างจากบนภูกระดึง ซึ่งเป็นป่าสนเพียงอย่างเดียว แต่ที่นี้เป็นป่าดิบแล้ง ผสมกับป่าสน ซึ่งมีต้นหญ้าขึ้นสูงท่วมเอวทีเดียว

14 03 05

06 07 08

09 10 13

หม้อที่พบก็มีหลากหลายมาก ทั้งหม้อบนหม้อล่าง ซึ่งมีขนาดและสีสันที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่สีแดง สีส้ม สีเขียว สีเหลือง หม้อที่นี่มีขนาดใหญ่กว่าบนภูกระดึงมาก เหลือบไปเห็นหม้อซึ่งเหี่ยวไปแล้ว มีขนาดใหญ่มาก ลุงสุรินทร์บอกว่า ถ้าอยากเห็นหม้อใหญ่ ๆ สีสวย ๆ ต้องมาดูช่วงหน้าฝน จะงามมาก ๆ

15

ลำต้นก็มีทั้งที่อยู่ตามพื้นดิน และที่ไต่ขึ้นไปบนต้นไม้หรือพุ่มไม้เตี้ย ๆ ใบมีขนาดที่ยาวมากกว่าที่พบบนภูกระดึง ที่นี่วัดความยาวได้ถึง 65 ซม.หม้อก็มีขนาดความสูงมากที่สุดถึง 21 ซม. และกว้างถึง 6 ซม. ทีเดียว(วัดจากหม้อขนาดใหญ่ซึ่งเหี่ยวแห้งไปแล้ว แต่ลำต้นยาวไม่มากนัก ลุงสุรินทร์บอกว่า บริเวณนี้เป็นทางช้างผ่าน ก็เลยทำให้ต้นไม้แถวนี้โดนช้างเหยียบและไปบ้าง
เมื่อถ่ายรูปบริเวณนี้จนหนำใจแล้ว ลุงสุรินทร์จึงพาเข้าไปดูอีกที่หนึ่งซึ่งต้องเข้าไปประมาณ 3 กม. บริเวณนี้เป็นบึงในช่วงฤดูฝนและจะแห้งในฤดูหนาว

19

บริเวณนี้เป็นที่โล่ง มีเพียงไม้พุ่มเตี้ย ๆ ล้อมรอบบึงด้วยป่าสน และป่าดิบแล้ง ที่เห็นเสื้อเหลือง ๆ นั่นแหละ ลุงสุรินทร์ เนวิเกเตอร์ของผม

20

กอหม้อข้าวหม้อแกงลิงในบริเวณนี้ จะเป็นพุ่มเตี้ยกว่า เพราะเป็นที่โล่ง แดดส่องได้ทั่วถึง ทำให้ใบและหม้อมีขนาดย่อมกว่าจุดแรกเล็กน้อย

34 21 22

23 24 25

29 30 31

32

หม้อบริเวณนี้ดูจะมีสีสันสดใส เพราะได้รับแสงแดดมากกว่า มีความหลากหลายเช่นเดียวกัน

27

ดินที่นี่เป็นดินเหนียวปนทราย ซึ่งแม้หน้านี้จะเป็นหน้าแล้งแล้ว แต่ยังคงมีความชื้นสะสมอยู่ใต้ดิน เนื่องจากเป็นบึงน้ำมากก่อน

เมื่อถ่ายรูปจนพอใจแล้วจึงแวะส่งลุงสุรินทร์ แล้วเดินทางกลับนครสวรรค์ รวมทั้งตั้งใจว่า เอาไว้หน้าฝนจะมาใหม่อีกครั้งนึง

 

ข้อแนะนำสำหรับการอนุรักษ์

เพื่อเป็นการอนุรักษ์หากพบหม้อข้าวหม้อแกงลิงในป่าธรรมชาติ ไม่ควรนำกลับมาปลูก โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงหรือขยายพันธุ์ เพราะโอกาสที่หม้อข้าวหม้อแกงลิงป่าจะรอดนั้นมีน้อยมาก สำหรับผู้มีประสบการณ์ในการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ ขอแนะนำให้ใช้วิธีการตัดยอดแล้วนำกลับไปชำในจำนวนไม่มากนัก เมื่อรอดแล้วค่อยขยายพันธุ์ด้วยกระบวนการอื่น ๆ ต่อไป ไม่ควรขุดรากถอนโคน เพราะหากเราตัดยอดหม้อข้าวหม้อแกงลิงยังมีโอกาสแตกยอดใหม่และเจริญเติบโตต่อไปได้ และที่สำคัญควรทำเพื่อการศึกษาค้นคว้าไม่ควรทำเพื่อการพาณิชย์หรือเพื่อความบันเทิง

ข้อความนี้ถูกเขียนใน ไม่มีหมวดหมู่ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น