Nepenthes mirabilis

Nepenthes mirabilis (Lour.) Druce

Rep. Exch. Cl. Br. Isl. (1916): 637.

ชื่อพ้อง: N. albolineata F.M. Bailey, N. aliciae F.M. Bailey, N. armbrustae F.M. Bailey, N. beccariana Macfarl., N. bernaysii F.M. Bailey,                    N. cholmondeleyi F.M. Bailey, N. fimbriata Blume, N. garrawayae F.M. Bailey, N. jardinei F.M. Bailey, N. kennedyana F. Muell., N. kennedyi Benth., N. macrostachya Blume, N. moorei F.M. Bailey, N. obrieniana Linden & Rodrigas, N. pascoensis F.M. Bailey, N. rowanae F.M. Bailey, N. tubulosa Macfarl.

ชื่อไทย: หม้อข้าวหม้อแกงลิง

ความหลากหลายและรูปแบบที่พบ: standard form, var. globosa

ถิ่นที่พบ: ระยอง, ตราด, สุราษฎร์ธานี

ระดับความสูง: จ-150 ม. จากระดับน้ำทะเล

นิเวศวิทยา: แอ่งน้ำ ขอบบึง ป่าพรุ ซึ่งมีน้ำขัง ซึ่งมีแสงแดดส่องถึงเกือบตลอดทั้งวัน ดินที่พบเป็นทรายแม่น้ำ ผสมซากใบไม้ผุ

ลักษณะของพืช:

ลำต้น: ทรงกระบอก ยาวไม่เกิน 15 ม. หนาไม่เกิน 20 มม. ระยะระหว่างข้อไม่เกิน 15 ซม. ใบ: บางเหมือนกระดาษ ต้นโตเต็มที่จะมีก้านใบ เนื้อใบรูปไข่หรือรูปปลายหอก ยาวไม่เกิน 30 ซม. กว้างไม่เกิน 7 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบค่อย ๆ แคบลงหรือแคบลงอย่างลาดชัน โคนใบธรรมดา-โอบรัดลำต้นกึ่งหนึ่งหากไม่มีก้านใบ เส้นใบแนวยาวเห็นได้ชัดเจน ฝั่งละ 3-4 เส้น เส้นใบย่อยจำนวนมาก สายหม้อยาวไม่เกิน 10 ซม. หม้อ: ก้นหม้อเป็นกระเปาะ มีเอวช่วง 1 ใน 3 จากก้น ด้านบนทรงกระบอก สูงไม่เกิน 15 ซม. กว้างไม่เกิน 4 ซม. มีครีบ 1 คู่ (กว้างไม่เกิน 4 มม.) ตั้งแต่ขอบปากถึงก้นหม้อ บริเวณต่อมผลิตน้ำย่อยอยู่บริเวณก้นหม้อที่เป็นกระเปาะ ปากหม้อกลม ขนานกับพื้นหรือเฉียง ขอบปากแบนโค้งที่ขอบ หนาไม่เกิน 10 มม. ฟันเห็นไม่ชัดเจน ฝาหม้อสัณฐานกลมรี ไม่มีเดือยใต้ฝา มี 1-2 จุก ยาวไม่เกิน 5 มม. หม้อบนทรงกระบอกครีบหดเล็กลง ช่อดอก: ช่อกระจะ ก้านช่อเดี่ยว ยาวไม่เกิน 15 ซม. ช่อดอกยาวไม่เกิน 30 ซม. ก้านดอกยาวไม่เกิน 15 มม. ไม่มีฐานรองดอก กลีบดอกรูปกลมหรือรูปไข่ ยาวไม่เกิน 7 มม. ขน: ต้นอ่อนปกคลุมด้วยขนหนาสั้นสีขาว แต่มีการผลัดขน ต้นที่โตเต็มที่ไม่มีขน ขอบใบของต้นที่ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่มีลักษณะขอบใบจัก

อ.เมือง จ.ระยอง 16 พ.ค. 2552

หลังจากเที่ยวที่จันทบุรีเสร็จแล้ว พ่อผมต้องกลับแต่เช้ามืดเพราะมีภาระกิจ ผมเลยให้พ่อแวะส่งที่ อ.แกลง ก่อนจะเลี้ยวเข้าเส้นทาง มอเตอร์เวย์ เพื่อต่อรถไปที่ ต.ตะพง ตามที่มีข้อมูลจากเว็บหม้อข้าวหม้อแกงลิง ว่ามีดง N. mirabilis ขึ้นปะปนกับป้าอ้อ หรือป่ากก


ผมนั่งรถเมล์จาก อ.แกลงเพื่อมาลงที่แยกตะพง แล้วเดินเข้าไปถามที่วินมอเตอร์ไซค์บริเวณหน้าวัดตะพง…(จำไม่ได้ว่าเหนือหรือใต้) มีป้าวินคนหนึ่งบอกว่าเคยเจอ เคยไปขุดมาปลูก(แต่ปลูกแล้วตาย) อยู่บริเวณป่าละเมาะใกล้หาดแม่รำพึง ไม่ห่างจากสีแยกนัก ผมจึงว่าจ้างให้ป้าพาผมไปดู ด้วยราคา 30 บาท เมื่อแรกไปถึงก็พยายามหา เท่าไรก็หาไม่เจอ วินมอเตอร์ไซค์ก็ตั้งใจช่วยเต็มที่ พยายามหาคนที่น่าจะรู้

จนไปได้แหล่งข่าวจากหมอยาสมุนไพรว่า พบอยู่อีกตำบลหนึ่ง ซึ่งห่างออกไปประมาณ 30 กม.จากที่นี่ ที่บ้านหมอท่านดังกล่าวผมได้พบคุณยายคนหนึ่ง ซึ่งผมถามถึงหม้อข้าวหม้อแกงลิงแกบอกไม่รู้จัก ผมจึงเปิดภาพในกล้องดิจิตอลที่ผมพกติดตัวไปให้แกดู พอแกเห็นแกก็ร้องอ๋อ "…ทอกลิง" ผมฟังไม่ชัด เพราะแกพูดเหน่อ แบบคนระยอง เลยถามอีกทีให้ชัด ๆ แกบอกว่า ไอ้ต้นพรรค์นี้ชาวบ้านเขาเรียกว่า "ควยถอกลิง"(Unsencer) เห็นไหมล่ะ ตอนที่ฝามันยังไม่เปิดมันเหมือน…ของลิงเปี๊ยบเลย(ละไว้ในฐานที่เข้าใจ) อ๋อ เลยได้ทราบภาษาถิ่นอีกชื่อหนึ่ง ซึ่งน่าบันทึกไว้มากเชียวครับ

ผมพยายามต่อรองให้ป้าพาไปให้ได้ เพราะไหน ๆ ก็มาแล้วไม่อยากเสียเที่ยว อีกอย่างผมมีเวลาทั้งวัน ไม่รีบร้อน ป้าแกก็ไม่ค่อยอยากไป ติว่ามันไกล แค่ไปบ้านเพ แกก็คิด 300 แล้ว นี่มันไกลว่านั้นอีก ผมก็เลยต้องนั่งต่อรองกับแก ว่า เอาเถอะป้าจะเอาเท่าไรก็ว่ามา ผมอยากไปดูจริง ๆ ผมสู้ราคาไหวผมก็ไป ถ้าไม่ไหวผมก็กลับ ป้าแกเลยคิดราคาไปกลับ 500 บาท ผมไม่ต่อรองมาก เอาก็เอา

เสร็จแล้วก็นั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์แกไป ตากแดด ตัวแดงกันเลย เสื้อคลุมก็ไม่มี หมวกก็ไม่มี แถมใส่กางเกงขาสั้นซะอีก ยังดีที่ช่วงแรก ๆ มีเมฆมาก เพราะเมื่อคืนฝนตก เลยไม่ค่อยร้อนเท่าไร แต่ขากลับนี่สิ แดดเปรี้ยง ๆ เลยครับ

เมื่อไปถึงตำบลที่ว่า ก็ยังต้องไปถามต่อเรื่อย ๆ เค้าว่าหนทางอยู่ที่ปาก ถ้าคุยกับชาวบ้านรู้เรื่องก็หาทางไปถูก ยิ่งมีคนท้องถิ่นไปด้วยยิ่งเข้าใจดีใหญ่ จนได้ทางไปยังบ้านหลังหนึ่งซึ่งทอเสื่อกก ชาวบ้านบอกว่านอกจากทอเสื่อกกแล้ว แกยังเก็บต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงมาชำแล้วก็ขายตามตลาดนัดด้วย ผมก็สืบเสาะไปจนเจอ พอดีกับที่แวะถามว่าบ้านหลังนั้นไปทางไหน ผมเหลือบไปเห็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่แกชำไว้หน้าบ้านพอดีเลย

ที่บ้านแก มีต้นใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ปลูกในวงบ่อปูนซีเมนต์ ต้นสูงประมาณ 2 เมตร กำลังออกดอกสะพรั่ง ผมก็เลยได้เก็บภาพมา ทั้งต้น และหม้อ

Photobucket
นี่ครับ ต้นที่อยู่ที่บ้านคุณพี่ที่ทอเสื่อ
Photobucket Photobucket
หม้อที่ส่วนใหญ่เป็น upper แล้ว มีทั้งสีแดง ๆ และสีออกเขียวเหลือง

แต่ต้นที่แกเพาะชำไว้ขายผมไม่ได้ถ่ายมา เพราะไม่ค่อยน่าชมเท่าไร หม้อก็ไม่มี ทำไงได้ล่ะครับ เลี้ยงกับแบบบ้าน ๆ ไม่รู้วิธีการมากมาย ป้าวินมอเตอร์ไซค์ แกก็ชอบของแกด้วย แกเลยซื้อมา 1 ต้น ราคา 30 บาท

พี่ท่านนี้เล่าให้ฟังว่า บริเวณที่แกพบเป็นบึงที่อยู่กลางหุบเขา มีน้ำขังตลอดปี เป็นพื้นที่ป่าเสม็ด ที่มีต้นกก จำนวนมาก เวลาที่แกไปเก็บต้นกกมาทอเสื่อ แกก็เก็บหม้อข้าวหม้อแกงลิงมาเลี้ยงเล่น ๆ นาน ๆ ไปเริ่มมีคนสนใจ แกก็เลย ชำใส่ถุงขาย โดยเก็บแต่ต้นเล็ก ๆ ขนาดพอใส่ถุงดำได้ แล้วก็มาเลี้ยงต่อจนรอด แกค่อยเอาไปขายตามตลาดนัด หรืองานออกร้านพร้อมกับเสื่อที่แกทอเอง(ถึงจะเป็นการทำลายธรรมชาติ แต่ผมก็ว่าน่าชื่นชมกว่าการเก็บถอนจำนวนมาก ๆ แล้วส่งมาขายในเมืองอีก) แต่ตอนนี้ในบึงนั้นเหลือหม้อข้าวหม้อแกงลิงไม่เยอะ โดยเฉพาะในหน้าแล้ง เพราะชาวบ้านใกล้บึงจะเผาป่า เพื่อให้โล่ง จะได้มีพื้นที่ในการทอดแห หาปลา(วิธีนี้ทำลายธรรมชาติ มากกว่าการเก็บต้นไม้มาขายเสียอีก) แกก็บอกว่าถ้าไปดูตอนนี้ไม่ค่อยได้เห็นต้นใหญ่ ๆ แล้วเพราะโดนเผาไปหมด จะมีก็ต้นเล็ก ๆ ที่เพิ่งเริ่มโต อีกอย่างหนึ่ง เมื่อก่อนที่บึงจะน้ำตื้น สามารถเดินไปได้ทั่ว แต่ตอนนี้ อบต. ทำโครงการคลองรอบบึง จึงมีการขุดคลองรอบบึง เพื่อให้น้ำสามารถไหลได้ ทำให้บริเวณที่เป็นคลองรอบบึงน้ำจะค่อนข้างลึก ถ้าลงไปก็เปียกหมดทั้งตัวกว่าจะข้ามไปในบึงในส่วนที่ตื้นได้

แต่ก็เอาล่ะ ไหน ๆ ก็มาแล้ว ขอไปดูเสียหน่อยก็แล้วกัน ไว้โอกาสหน้าเอารถมาเองจะลงไปลุยในบึงเลย ผมกับคุณป้ามอเตอร์ไซค์ก็ขี่รถหาบึงนี่อีก ซึ่งห่างจากบ้านทอเสื่อประมาณ 3 กม. แล้วก็ได้พบ สภาพบึงเป็นแบบนี้ครับ
Photobucket

Photobucket
ตรงกลางที่มีต้นกก และต้นไม้ขึ้นห่าง ๆ กันคือบึงที่ว่าครับ มีเนื้อที่น่าจะเป็นพัน ๆ ไร่ ส่วนบริเวณที่มีดอกบัวขึ้น คือคลองที่อบต.ขุดไว้รอบบึงครับ ไว้คราวหน้ามีเสื้อผ้ามาเปลี่ยนจะลงไปถ่ายถึงในบึงเลยครับ เรื่องราวการผจญภัยตามล่าหาหม้อข้าวหม้อแกงลิงของผม ในครั้งนี้ก็มีเท่านี้ครับ

เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี  10 ก.ค. 2552

Picture 006  

Picture 004

Picture 005

Picture 001

Picture 003

N. mirabilis รูปแบบที่พบบนเกาะพะงัน เป็นกลุ่มต้นเดี่ยว ขนาดใหญ่ ปกคลุมไม้พุ่มเกือบทั้งต้น อาจมีเพียง 2-3 ต้น ซึ่งพบมีรากและโคนต้นขนาดใหญ่ แช่ลงในแอ่งน้ำ รากหยั่งลงถึงก้นแอ่งน้ำซึ่งมีดินทรายและซากใบไม้ผุตกตะกอนอยู่ นอกจากนั้นมีการแตกหน่อ แตกยอดจากต้นเดียวกัน แยกออกไปเป็นหลายยอด ลำต้นมีการยืดขึ้นไปถึงยอดไม้ แล้วหักงอลงมา แล้วยืดขึ้นไปอีกหลายครั้ง ซึ่งน่าจะมีความยาวมากกว่า 15 เมตร

Picture 027Picture 019 

Picture 002 Picture 008 Picture 010

Picture 013  Picture 016  Picture 020

 Picture 023 Picture 015

หม้อที่พบเป็นรูปแบบธรรมดาโดยทั่วไป มีลักษณะใกล้เคียงกับ รูปแบบที่พบทางภาคตะวันออก แต่มีส่วนที่แตกต่างกันเล็กน้อย คือหม้อค่อนข้างสั้นป้อมกว่ารูปแบบที่พบในบริเวณอื่น ๆ สีค่อนข้างจืด มีบ้างที่ขอบปากหม้อสีแดงสด แต่ส่วนใหญ่หม้อเป็นสีเขียวอ่อน มีสีแดงเรื่อ ๆ บริเวณก้นหม้อและขอบปากหม้อ ในบริเวณนั้นมีเพียงต้นเดียวที่มีลักษณะหม้อค่อนข้างกลม และมีสีแดงล้วน ซึ่งเป็นลักษณะที่แปลกแยก บริเวณใกล้เคียงยังมีต้นขนาดเล็กซึ่งคาดว่าเกิดจากเมล็ด แต่กระจายตัวไม่ห่างจากพุ่มใหญ่มากนัก ต้นที่พบในบริเวณมีตั้งเพศผู้และเพศเมีย เท่า ๆ กัน ช่วงที่ไปพบ เป็นช่วง ที่ช่อดอกตัวเมียได้รับการผสมแล้ว แต่ฝักยังไม่แก่จัดจึงไม่สามารถเก็บเมล็ดนำมาเพาะพันธุ์ได้ แต่ก็มีฝักที่สมบูรณ์ประมาณ 2-3 ฝัก จึงทดลองเก็บมาเพาะเลี้ยง ว่าสามารถใช้เมล็ดจากฝักที่ยังไม่แก่ เพาะได้หรือไม่

บึงหล่ม อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ 13 กันยายน 2552

ผมค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต แล้วพบว่ามีหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับ นิเวศวิทยาของหม้อข้าวหม้อแกงลิงในบึงหล่ม อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ บ้านผมเอง ผมจึงไปหาข้อมูลจากผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่รอบบึงหล่ม ได้ความว่า บึงหล่ม เป็นบึงธรรมชาติขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหล่ม ที่ไม่ลึกมากนัก ในบึงจะเต็มไปด้วยหม้อข้าวหม้อแกงลิง หญ้าคา หญ้าไทร ผักกูด รวมทั้งสัตว์น้ำ และนกน้ำจำนวนมาก เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน มีการจัดสร้าง ประตูกั้นน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำภายในบึงและปล่อยน้ำเพื่อการเกษตร ไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ใกล้เคียง ทำให้เมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำก็จะท่วมต้นไม้ภายในบึงเกือบทั้งหมด และเมื่อหน้าแล้งน้ำก็จะแห้งไปจากบึง ซากหญ้าและพืชในบึง ก็ถูกไฟป่าใหม้ทุกปี ทำให้หม้อข้าวหม้อแกงลิงที่เคยมีในบึงหล่มแห่งนี้ สูญพันธุ์ไปด้วย ซึ่งน่าเสียดายเป็นอย่างมาก

ข้อความนี้ถูกเขียนใน ไม่มีหมวดหมู่ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น