สำรวจหม้อข้าวหม้อแกงลิงและหยาดน้ำค้าง ณ ทุ่งโนนสน อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง N. smilesii on Tung Non-Son

 Picture 092 

“ทุ่งโนนสน” เป็นเป้าหมายของผมตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ที่ผมตั้งใจจะไปสำรวจ แต่โดยความไม่รู้ว่าทุ่งแห่งนี้ เปิดให้เข้าชมเพียงชั่วระยะเวลา 3 เดือน คือตั้งแต่ฤดูฝน จนถึงต้นฤดูหนาว เนื่องจากระยะทางในการเดินเท้าค่อนข้างไกล และไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านบน หากไม่ขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว จะไม่มีดอกไม้ให้ชม เป็นประการแรก ประการที่ 2 น้ำกินน้ำใช้จะขาดแคลน เพราะบนทุ่งดังกล่าว ไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้ ต้องใช้น้ำจากลำธาร ซึ่งจะไหลจากตาน้ำบริเวณเนินเขา กลางทุ่ง และในช่วงฤดูแล้ง น้ำซับก็จะแห้ง ทำให้ไม่มีน้ำให้ใช้กัน เอาล่ะครับ ไหน ๆ ก็ขึ้นไปแล้ว ก็นำภาพมาให้ชมกันเลยดีกว่า ความยากลำบากเป็นอย่างไร ไปหาอ่านได้ที่ space ของ trongtham@hotmail.com ซึ่งจะเล่าถึงรายละเอียดการเดินทางอีกที

สำหรับหม้อข้าวหม้อแกงลิงประจำถิ่นของที่นี่ ก็คือ Nepenthes smilesii ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่พบได้มากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แทบจะทุกแห่งที่มีที่ราบสูง หรือพื้นราบบนยอดภู ยอดดอย เช่น ภูกระดึง ภูลังกา ภูผาเหล็ก ผาแต้ม เป็นต้น ซึ่ง ทุ่งโนนสน ของอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ถือเป็น บริเวณที่อยู่ทางตะวันตกสุดที่พบชนิดพันธุ์นี้

 Picture 100 

N. smilesii ที่ทุ่งโนนสนแห่งนี้ เจริญเติบโต บนทุ่งหญ้าเพ็ก ท่ามกลางป่าสนโล่ง ๆ พื้นดินเป็นดินทรายที่เกิดจากการกัดกร่อนของหินทราย และมีน้ำซึมไหลผ่าน ทำให้พื้นดินชุ่มชื้นเกือบตลอดทั้งปี เหมือนกับเป็นบึงน้ำตื้น ๆ บนยอดภูเขา การเจริญเติบโต ก็มักงอกจากพื้นดินเป็นพุ่ม เล็กบ้างใหญ่บ้าง ขึ้นอยู่กับอายุของแต่ละกอ บางกอ เจริญเติบโตได้ดี จนมีขนาดใหญ่ทับถม กันจนหญ้าเพ็กไม่สามารถเจริญเติบโตแข่งได้ มีบ้างที่อิงอาศัย กับพุ่มไม้เตี้ย ๆ ในทุ่งเหล่านั้น

 Picture 104

Picture 081

หม้อล่างของ N. smilesii ที่นี่มีลักษณะค่อนข้างยาว ก้นหม้อทรงกระเปาะ มีจำนวนไม่มากนักที่หม้อมีสัณฐานค่อนข้างกลม สีพื้นของหม้อเป็นสีเขียวอ่อน มีจุดประค่อนข้างเลือน สีส้มแดงกระจายโดยทั่วไป ฝาหม้อมีสีเดียวกับตัวหม้อ ปากหม้อมีสีค่อนข้างส้มแดง มีจำนวนไม่มากที่ปากหม้อเป็นสีเขียว หรือสีแดงสด ขอบปากหม้อค่อนข้างบาง

Picture 105 

Picture 085 

Picture 086

Picture 087

Picture 089

Picture 088 

หม้อบน สีเขียวเหลือง ทรงกระบอกไปจนถึงทรงกรวย ครีบหดเล็กลง เหลือเพียงแนวเส้นมีสีเข้ม ตัดกับสีพื้นของหม้ออย่างชัดเจน ฝาหม้อสีเดียวกับหม้อ หรือเจือสีแดงเล็กน้อย เมื่อหม้อแก่อาจมีจุดประสีแดงเกิดขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากแดดเผา

Picture 099

Picture 082

Picture 083

Picture 084 

Picture 101  

Picture 091 

ดอกที่พบมีทั้งเพศผู้และเพศเมีย ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันมาก ทำให้มีการขยายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี

Picture 090 Picture 103 

นอกจากนั้น ในบริเวณดังกล่าว จะพบ จอกบ่อวายและหญ้าน้ำค้าง ซึ่งเป็นไม้กินแมลงอีก 2 ชนิดในบริเวณเดียวกัน ได้แก่

Drosera burmanii หรือ ภาษาท้องถิ่นว่า “จอกบ่อวาย” หมายถึง ถ้วยที่ไม่เคยแห้งนั่นเอง

Picture 075

Picture 094

Picture 095

Picture 097

Picture 102 

และ Drosera indica  หรือ “หญ้าน้ำค้าง” ซึ่งทั้ง 2 ชนิดมีขนาดเล็ก แต่เมื่อถ่ายในระยะใกล้ เห็นหยดน้ำเล็ก ๆ ก็ดูสวยงามมาก

Picture 074  

พืชในกลุ่มหยาดน้ำค้าง drosera เป็นไม้กินแมลง ที่มีวิธีการดักจับแมลงที่แตกต่างจากหม้อข้าวหม้อแกงลิง โดย หยาดน้ำค้างจะผลิตน้ำหวานซึ่งมีเมือกเหนียวบริเวณปลายขนรอบ ๆ ใบ เมื่อแมลงเข้ามาตอมน้ำหวานก็จะติดกับเมือกเหนียวเหล่านั้น และไม่สามารถหนีออกไปได้อย่างทันท่วงที เมื่อขนสัมผัสรับความรู้สึกได้ว่าเหยื่อมาติดกับแล้ว ต้นหยาดน้ำค้างก็จะค่อย ๆ ม้วนใบเข้าหาตัวเพื่อรัดเหยื่อให้แน่น แล้วจึงค่อยปล่อยเอ็นไซม์สำหรับการย่อย ออกมาย่อยสลายและดูดซึมสารอาหารเข้าไปเลี้ยงลำต้นต่อไป ซึ่งวิธีการคล้ายคลึงกับการจับแมลง ของ ต้นกาบหอยแครง เพราะเป็นพืชตระกูลเดียวกัน แต่มีการวิวัฒนาการที่แตกต่างกันมาหลายล้านปี

สรุป ทุ่งโนนสนถือเป็นสวรรค์ของคนรักหม้อข้าวหม้อแกงลิงอีกแห่งหนึ่ง หากท่านมีเวลาไปเที่ยวชม ท่านสามารถเดินชม และถ่ายรูปได้เกือบทั้งวัน ซึ่งหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่นี่อยู่ในทุ่งโล่ง ซึ่งเดินชมได้ง่าย ไม่กระจัดกระจาย และอยู่ในพื้นที่ไม่กว้างใหญ่มากนัก แต่มีปริมาณหนาแน่น เที่ยวชมได้จนอิ่มตา อิ่มใจมากครับ

ข้อความนี้ถูกเขียนใน หม้อข้าวหม้อแกงลิงในธรรมชาติ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น