Nepethes kampotiana

N. kampotiana Lecomte

ชื่อพ้อง: anamensis Mcfarlane, geoffrayi Lecomte, micholitzii Bonst.

ชื่อไทย: หม้อข้าวลิง

ความหลากหลายและรูปแบบที่อธิบายไว้: ไม่มี

ถิ่นกำเนิด: ตราด เรื่อยไปจนถึงเมืองกัมโปต ประเทศกัมพูชา

ระดับความสูง: 0-120 ม.

ชนิดผสมตามธรรมชาติ: N. mirabilis

นิเวศวิทยา: ป่าเสม็ด ป่าสันทรายชายหาด

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ผมนัดพบกับเพื่อน Mr. Marcello Catalano ชาวอิตาลี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหม้อข้าวหม้อแกงลิงในประเทศไทย เขาใช้เวลาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เดินทางมายังประเทศไทยด้วยตัวคนเดียว ปีละ 1-2 เดือนเพื่อสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับหม้อข้าวหม้อแกงลิง และเขียนเวบไซท์เกี่ยวกับหม้อข้าวหม้อแกงลิงในประเทศไทย ในชื่อ www.nepenthesofthailand.com (ประสบการณ์และความลำบากในการตามหาหม้อข้าวหม้อแกงลิงในประเทศที่คนส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ลองอ่านดูในเวบของเขา) ผมได้พูดคุยกับเขาทางอีเมล์ และเขาก็ได้เข้ามาดูเวบบล๊อกที่ผมสำรวจเกี่ยวกับหม้อข้าวหม้อแกงลิงในขณะที่ผมเดินทางไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน ในปีนี้ เขาเดินทางมาเมืองไทยในช่วงเดือนสิงหาคม ผมจึงจัดตารางเวลา และเข้าร่วมเดินทางสำรวจกับเขาในช่วง 4-5 วันที่ผมพอจะหยุดงานได้

 

ในช่วงเวลานี้  Marcello สำรวจอยู่ที่จ.ตราด ผมจึงเดินทางไปพบเขาที่นั่น และเริ่มต้นสำรวจกัน จุดแรกเราเดินทางไปในเขตอ.เมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 7 กม. ซึ่งเขาได้รับข้อมูลคราว ๆ และยังหาบริเวณดังกล่าวไม่พบ ผมร่วมทางกับเขาและช่วยสื่อสารกับชาวบ้านเพื่อสอบถามทาง แต่สุดท้ายเราก็คว้าน้ำเหลว

จุดที่สองเป็นพื้นที่อ.เมืองเช่นเดียวกัน แต่ห่างจากตัวเมือง 30 กม. โดยประมาณ เขาเคยมาที่นี่เมื่อปีก่อน ตามข้อมูลที่พบที่หอพรรณไม้ กรมป่าไม้ และได้พบ N. kampotiana ในบริเวณดังกล่าว แต่ในปีนี้ที่เขาพาผมไป พวกเราพบเพียงความว่างเปล่า ป่าเสม็ดที่เคยมีหายไป กลายเป็นไร่ กลายเป็นนา จนเขาเองก็จำสภาพแทบไม่ได้ เราได้สอบถามจากชาวบ้าน ชาวบ้านบอกว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว มีคนมากว้านซื้อไปหมด ชาวบ้านก็งัดมาขายกันจนสูญไปเลย ซึ่งนับว่าน่าเสียดายเป็นอย่างมาก เพราะจากคำบอกเล่าของมาร์ซี่ บริเวณนี้มี N. kampotiana เพียงอย่างเดียว หากยังมีอยู่ เราสามารถเก็บเมล็ดไปเพาะ และแน่ใจได้ว่าเป็นชนิดนี้ล้วน ๆ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงที่ชาวบ้านนำมาใส่กระถางปลูกประดับตามบ้านเท่านั้น

จุดที่ 3 เราเดินทางต่อไปยัง อ.คลองใหญ่ เพื่อสำรวจบริเวณที่เขาเคยมาสำรวจแล้วเมื่อคราวก่อนอีกเช่นกัน บริเวณดังกล่าวอยู่หลังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ห่างจากตัวเมืองตราดประมาณ 60 กม. แต่ไม่สามารถขับรถไปถึงจุดดังกล่าวได้ ต้องจอดรถ แล้วเดินลุยทุ่งเข้าไปยังบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นป่าชุมชน

 Picture 001

ที่เดินนำหน้า สะพายเป้ใบใหญ่นั่นแหละครับ Marcello ผมขอเรียกเขาง่าย ๆ ว่า มาร์ซี่ ก็แล้วกัน เราเดินไปตามพิกัดจีพีเอส ซึ่งเขาได้ทำไว้เมื่อครั้งก่อนที่มา ครั้งก่อนเขามาในช่วงฤดูแล้ง ช่วงต้นปี ดินบริเวณนี้แห้ง ต้นหญ้าก็ไม่หนาแน่นนัก ทำได้เดินง่าย ผิดกับช่วงฤดูฝนแบบนี้ พื้นดินเฉอะแฉะมีน้ำขัง บางช่วงเป็นดินโคลน หญ้าก็ขึ้นสูงท่วมเกินเข่า แต่ก็ไม่มีปัญหา สำหรับคนบ้าหม้อ 2 คนแบบพวกเราครับ (ตอนที่อีเมล์คุยกันว่าขอมาร่วมด้วย เขาก็ขู่ว่า มันลำบากนะ เขาเดินทางคนเดียว รีบ ทำงานหนัก ไม่ได้ชื่นชมความงามธรรมชาติเท่าไร ผมก็สู้ครับ เขาก็เลยตอบตกลงให้มา) พอมาจริง ๆ บางช่วงผมลุยมากกว่าเขาอีก เดี๋ยวรออ่านต่อไป

บริเวณป่าดังกล่าว เป็นป่าเสม็ด พื้นดินเป็นดินทราย มีน้ำท่วมขังเป็นบางช่วงในฤดูฝน ป่าดังกล่าวมีเพียงต้นเสม็ด และไม้พุ่มเตี้ย ๆ ขึ้นห่าง ๆ กัน พื้นล่างเป็นทุ่งหญ้าเพ็ก และมีพืชสกุล Ultricularia ขึ้นปะปนกับหญ้า เราเดินเข้าไปในป่า ลึกพอสมควร แต่ก็ยังไม่พบ มาร์ซี่ก็ไม่แน่ใจ เพราะเขามาหน้าแล้ง ภูมิประเทศจึงค่อนข้างจะแตกต่างกันมาก ผมเดินตามพิกัดจีพีเอสไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่ใกล้ที่สุด แต่พิกัดจริง ๆ อยู่ลึกเข้าไปในป่า ผมจึงตัดสินใจเดินลุยเข้าป่า ตามพิกัดจีพีเอส แล้วผมก็เริ่มได้เห็น

Picture 027

บนยอดไม้ซึ่งสูงเกือบ 3 ม. มีหม้อข้าวหม้อแกงลิงอยู่ ใช่แล้ว บริเวณนี้แน่นอน ผมจึงเริ่มมองหาตามพื้น เพื่อหาต้นและหม้อที่มีขนาดพอเหมาะเพื่อทำการถ่ายรูป

Picture 015 Picture 017 Picture 019

ชนิดนี้มีลำต้นทรงกระบอกและใบเรียวยาว ขอบขนาน ไม่มีก้านใบ โคนใบโอบลำต้น ยาวลงมาตามข้อ คล้ายกับ N. smilesii ของทางภาคอีสาน แต่มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดคือ ขน ซึ่ง N. smilesii จะมีขนตลอดทั้งต้นโดยเฉพาะยอดอ่อนจะมีขนหนาสีน้ำตาลปกคลุม แต่ N. kampotiana จะไม่มีขนบริเวณลำต้นและใบ จะมีก็เพียง ดอก หม้อ และสายหม้อเท่านั้น

Picture 024 Picture 002 Picture 007 

Picture 008 Picture 009 Picture 023 

Picture 013 Picture 014

หม้อล่าง ก็มีลักษณะทั้งรูปทรง และสีสันใกล้เคียงกัน คือ มีจุดประสีแดงเข้มถึงสีส้ม บนผิวหม้อสีเขียวเหลือง ขอบปากหม้อทรงกระบอก ค่อนข้างแคบ บริเวณที่ขอบปากหม้อประกบกันทางด้านหลัง จะยกสูงขึ้นเป็นคอเด่นชัด แต่โดยรวมแล้ว N. kampotiana ค่อนข้างจะมีสีสันเข้ม และสดใสกว่า และก้นหม้อจะป่องเป็นกระเปาะมากกว่า N. smilesii

Picture 005 Picture 012 

Picture 003 Picture 011Picture 004 

หม้อบน จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่า บริเวณใกล้ปากหม้อจะกว้างแล้วเรียวเป็นทรงกรวยอย่างชัดเจน ซึ่งหม้อบนของ N. smilesii จะค่อนข้างเป็นทรงกระบอก จะเรียวที่ก้นหม้ออย่างไม่เป็นทรงกรวยมากนัก สีของหม้อบนจะเปลี่ยนจากสีแดงส้ม ซีดลง และกลายเป็นสีเขียวอ่อนเมื่อสมบูรณ์เต็มที่

Picture 006  Picture 010

นิเวศวิทยาของ N. kampotiana จะอยู่ในป่าเสม็ดซึ่งมีพื้นดินเป็นดินทราย มีความชื้นสูงแต่ไม่มีน้ำท่วมขัง ในระดับน้ำทะเล แสงแดดสามารถส่องถึงได้ตลอดทั้งวัน ในบริเวณดังกล่าว ยังมีพื้นที่ต่ำกว่า และมีน้ำท่วมขังเราได้พบ N. mirabilis รวมทั้งลูกผสมของ N. kampotiana x N. mirabilis อีกด้วย 

Picture 020  Picture 021

ลูกผสมสามารถแยกความแตกต่างได้ง่าย ที่ใบ โดยลูกผสมจะมีใบกว้าง มีก้านใบ และโคนใบที่โอบลำต้นจะไม่ยืดยาวตามข้อมากนัก นอกจากนั้นยังมีเส้นใบแนวยาวเด่นชัด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของ N. mirabilis แต่ใบก็จะแคบกว่า N. mirabilis เช่นเดียวกัน

 Picture 025 Picture 031

Picture 022 Picture 026 Picture 030

หม้อของลูกผสมชนิดนี้ก็จะเป็นทรงกระบอกมากกว่า N. kampotiana และไม่ค่อยมีจุดประ ขอบปากหม้อหนากว่าและค่อนข้างแบน บริเวณที่ขอบปากหม้อมาประกบกัน คอจะไม่ยกขึ้นสูงมากนัก ซึ่งเป็นลักษณะของ N. mirabilis

 

ดังที่กล่าวไปแล้ว เมล็ดในบริเวณนี้จึงอาจเป็นได้ทั้ง N. kampotiana ล้วนหรือลูกผสมระหว่าง N. kampotiana x N. mirabilis ก็ได้ จึงไม่มีการเก็บเมล็ดนำมาเพาะ เพราะไม่แน่ใจว่าจะได้ลูกไม้ออกมาอย่างไร

 

หลังจากจุดดังกล่าว พวกเราพยายามหาทางขึ้นไปบนเขา ซึ่งมาร์ซี ได้พบตัวอย่าง ที่หอพรรณไม้ ว่ามีตัวอย่างมาจากบนเขาสูงกว่าระดับน้ำทะเล 120 ม. อยู่ด้วย เพื่อสำรวจว่า N. kampotiana ยังพบได้บริเวณที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลจริงหรือไม่ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะจะมีฐานของทหารพรานที่ทำหน้าที่ป้องกันประเทศอยู่ เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่แคบ ซึ่งติดกับชายแดน ทหารบอกว่า ไม่สามารถให้ผ่านได้เพราะแค่ข้ามเขาไปก็ไปฝั่งเขมรแล้ว ซึ่งมีกับระเบิดที่ยังไม่ได้เก็บกู้ด้วย ถือเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ และอันตรายมาก เราจึงสอบถามทหารว่า ระหว่างการลาดตระเวน มีใครเคยพบต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงบนเขาบ้างหรือไม่ ก็ได้คำตอบว่า มี โดยทหารดังกล่าว ชี้ให้พวกเราเห็นหม้อข้าวหม้อแกงลิง N. kampotiana 2 กระถาง ที่ทหารเก็บมาเลี้ยงจากป่าบนเขา ทำให้เราทราบว่า ชนิดนี้นอกจากจะอยู่ที่ระดับน้ำทะเลแล้ว ยังสามารถขึ้นบนยอดเขาที่เป็นที่ราบได้อีกด้วย ทั้งยังปลอดภัยจากการถูกพวกลักลอบหาของป่า เก็บมาขาย จึงนับว่าเป็นความมั่นคงระดับชาติ ที่จะรักษาพืชชนิดนี้ให้มีอยู่มากตามป่าเขา ไม่ให้สูญพันธุ์ไปเช่นเดียวกับบริเวณพื้นล่าง

ข้อความนี้ถูกเขียนใน หม้อข้าวหม้อแกงลิงในธรรมชาติ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น